การพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายจัดสรรก่อน เนื่องจากมีข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับการจัดสรรมากมาย ทั้งนี้หากทำการจัดสรรอยู่จังหวัดไหนก็ต้องดูกฎหมายของแต่ละพื้นที่เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วขนาดถนนในโครงการจัดสรร กฎหมายมักกำหนดไว้ดังนี้ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535
ขนาดและเนื้อที่ดินในโครงการจัดสรร แบ่งเป็น 4 ขนาดคือ
- จัดสรรขนาดเล็กพิเศษ หรือจัดสรรจิ๋ว ในเขตกทม เทศบาลแบ่งแปลงได้ไม่เกิน 32 แปลง และเนื้อที่เพื่อการจำหน่ายไม่เกิน 2 ไร่ ในเขต อบต. มีจำนวนแปลงย่อยไม่เกิน 40 แปลง และเนื้อที่เพื่อการจำหน่ายไม่เกิน 4 ไร่
- โครงการจัดสรรขนาดเล็ก มีจำนวน 10-99 แปลง พื้นที่ดินโครงการน้อยกว่า 19 ไร่
- โครงการจัดสรรขนาดกลาง มีจำนวน 100-499 แปลง พื้นที่ดินโครงการน้อยกว่า 19-100 ไร่
- โครงการจัดสรรขนาดใหญ่ มีจำนวน 500 แปลงขึ้นไป พื้นที่ดินโครงการมากกว่า 100 ไร่ขึ้นไป
1. ถนนที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ที่ดินแปลงย่อยไม่เกิน 100 แปลง หรือไม่เกิน 20 ไร่ ต้องมีความกว้างของเขตทางไม่ต่ำกว่า 8 เมตร โดยมีความกว้างของผิวจราจร 6 เมตร และจัดทำทางเท้ายกระดับ ด้านที่ปักเสาไฟฟ้า ให้มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 1.15 เมตร
2. ถนนที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ที่ดินแปลงย่อยไม่เกิน 300 แปลง หรือไม่เกิน 50 ไร่ ต้องมีความกว้างของเขตทางไม่ต่ำกว่า 12 เมตร โดยมีความกว้างของผิวจราจร 9 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.50 เมตร
3. ถนนที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 300 แปลงขึ้นไป หรือมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ต้องมีความกว้างของเขตทางไม่ต่ำกว่า 16 เมตร โดยมีความกว้างของผิวจราจร 12 เมตร และทางเท้าข้างละ 2 เมตร
4. ถนนที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ที่ดินแปลงย่อยประเภทที่ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ต้องมีความกว้างของเขตทางไม่ต่ำกว่า 16 เมตร โดยมีความกว้างของผิวจราจร 12 เมตร และทางเท้าข้างละ 2 เมตร และมีรัศมีการเลี้ยวโค้งที่ทางเลี้ยวหรือทางแยกไม่ต่ำกว่า 12 เมตร
5. ถนนที่เป็นปากทางเข้าออกของโครงการจัดสรรที่บรรจบกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางสาธารณประโยชน์ ต้องมีความกว้างของผิวจราจรและทางเท้าไม่น้อยกว่าเกณฑ์กำหนดตามข้างต้น นอกจากจะมีเกณฑ์บังคับเป็นอย่างอื่น
6. ในกรณีที่ที่ดินแปลงย่อยมีหน้าแปลงที่ดินติดต่อกับเขตห้ามปลูกสร้างอาคารริมทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงแผ่นดิน ให้ปรับปรุงเขตทางนั้นเป็นผิวจราจร โดยให้เชื่อมเป็นส่วนเดียวกับผิวจราจรของทางหลวง นอกจากจะมีเกณฑ์บังคับเป็นอย่างอื่น
7. ถนนแต่ละสายให้มีความยาวจากทางแยกหนึ่งถึงอีกทางแยกหนึ่ง ไม่เกิน 300 เมตร และไม่ควรให้เป็นแนวตรงยาวเกินกว่า 600 เมตร ถนนที่มีความยาวระหว่างทางแยกเกินกว่า 120 เมตร ให้จัดทำสันชะลอความเร็วทุกระยะไม่เกิน 120 เมตร
8. ให้จัดให้มีที่จอดรถระหว่างผิวจราจรกับทางเท้ากว้าง 2.50 เมตร ในบริเวณต่อไปนี้
- ตลอดความยาวด้านหน้าที่ดินแปลงย่อยประเภทอาคารพาณิชย์
- ตลอดความยาวทุกด้านที่ติดถนนของที่ดินแปลงใหญ่
- ตลอดความยาว 2 ฝั่งถนน เป็นระยะทางข้างละ 50 เมตร นับจากปากทางเข้าออกของโครงการที่บรรจบ กับทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงท้องถิ่นที่มีความกว้างของเขตทาง ตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป
9. ถนนสายสายหลัก ที่ต้องรับปริมาณการจราจรมาก ต้องมีความลาดชัน และทางเลี้ยวของผิวการจราจรที่สะดวกต่อการขับขี่ยวดยานอย่างปลอดภัย โดยความลาดชันของผิวจราจรทุกจุดต้องไม่เกิน 7 ส่วนต่อทางราบ 100 ส่วน ทางเลี้ยวหรือทางบรรจบต้องไม่เป็นมุมแหลมเล็กกว่า 60 องศา และในกรณีทางเลี้ยวที่ห่างกันน้อยกว่า 37 เมตร ต้องเป็นมุมป้านไม่ต่ำกว่า 120 องศา
10. ปากทางของถนนที่มีเขตทางต่ำกว่า 12 เมตร จะต้องปาดมุมถนนให้กว้างขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าด้านละ 1 เมตร ถ้าปากทางถนนดังกล่าวเป็นมุมเล็กกว่า 90 องศา จะต้องปาดมุมให้กว้างขึ้นอีกตามความเหมาะสม
11. ถนนที่ตัดผ่านลำรางสาธารณะประโยชน์ ซึ่งกว้างกว่า 3 เมตรขึ้นไป จะต้องทำเป็นสะพาน ถ้าลำรางสาธารณะ ประโยชน์กว้างต่ำกว่า 3 เมตร จะจัดทำเป็นสะพานหรือสะพานท่อ หรือใช้ท่อลอดโดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร และหลังท่อลึกจากผิวจราจรไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ที่กลับรถต้องจัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน